ประวัติชีวิตโดยย่อของดอกเตอร์มาเรียมอนเตสซอรี

maria_montessori

               Dr. Maria Montessori ไม่ได้เป็นเพียงผู้หญิงที่เสาะแสวงหาแนวทางการพัฒนาการศึกษาให้แก่เด็กๆเท่านั้น เธอยังเป็นผู้มีจุดมุ่งหมายที่แน่วแน่ในชีวิต ซึ่งอุทิศตนในการทำความเข้าใจถึงวิธีการและสาเหตุแห่งการเรียนรู้ของเด็ก

               ด้วยความรู้พื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ของเธอ ทำให้เธอทำงานอย่างเป็นระบบ เป็นขั้นตอน ไม่เคยมีการสุ่มเสนอทฤษฎีแบบง่ายๆ หากแต่มีการสนับสนุนทฤษฎีแนวคิดต่างๆโดยการหยิบยกประสบการณ์ตรงจากการสังเกตที่ได้จากการทำงานคลุกคลีอยู่กับเด็กๆ และเธอได้เปรียบผลงานของเธอว่าเป็น “เนื้อหาของงานวิจัย” ส่วนตัวเธอเองนั้นเป็นผู้ส่งสารจากเด็กๆ

               เมื่อมองย้อนกลับไปยังความสำเร็จของเธอในยุคสมัยนั้นแล้ว เป็นที่น่าสังเกตว่าความคิดของเธอนั้นถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ เนื่องจากในยุคต้นปี ค.ศ. ๑๙๐๐ นั้น ผู้คนมองความเป็นเด็กว่าเป็นเพียงภาชนะที่ว่างเปล่าที่รอการเติมเต็มจากผู้ใหญ่เท่านั้น กล่าวคือ การเรียนรู้ของเด็กจะต้องมีปัจจัยหลักจากภายนอกเท่านั้น ดังนั้นผู้ใหญ่จะต้องเป็นผู้ที่คอยควบคุมและช่วยเหลือด้านการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  ระเบียบวินัยต่างๆของเด็กก็ต้องได้รับการกระตุ้นจากภายนอกเท่านั้น ไม่สามารถเกิดจากการวางรากฐานในวัยเด็กได้

               เมื่อตอนที่ Dr. Maria Montessori ได้เปิดโรงเรียนขึ้นเป็นของตนเองเป็นครั้งแรกและได้เริ่มทดสอบแนวคิดของเธอนั้น ผลที่ออกมาทำให้ทุกคนที่มีส่วนร่วมรู้สึกประหลาดใจเป็นอย่างมาก เมื่อมีเด็กๆจากชุมชนแออัดที่มีภูมิหลังที่ไม่ดีเลยซึ่งโดยทั่วไปมักจะถือว่าเป็นเด็กที่ควบคุมยาก เริ่มที่จะมีการเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมในทางที่ดีโดยไม่มีผู้ใหญ่เข้าไปควบคุม ซึ่งผิดจากสิ่งที่คนส่วนใหญ่คาดไว้ ดูเหมือนว่ายิ่งเด็กมีอิสระที่จะเลือกกิจกรรมในการเรียนรู้ที่น่าตื่นเต้นของตัวเองภายใต้สิ่งแวดล้อมที่ถูกจัดไว้ให้มากเท่าไหร่ พวกเขาก็จะมีความสุขและความสนใจในการเรียนรู้มากขึ้นเท่านั้น

               Dr. Maria Montessori เริ่มรู้สึกเชื่อมั่นขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อได้ค้นพบกุญแจสำคัญของการเปลี่ยนแปลงด้านสังคมนี้ และก็ได้อุทิศชีวิตของตนเองให้แก่การต่อสู้ เพื่อสิทธิของเด็กและเยาวชน หลังจากนั้นเป็นต้นมา

               Dr. Maria Montessori เกิดเมื่อวันที่ ๓๑ สิงหาคม ค.ศ. ๑๘๗๐ในเมือง Chiaravalle จังหวัด Ancona ประเทศอิตาลี และครอบครัวของเธอได้ย้ายเข้ามาอยู่ในกรุง Rome เมื่อเธออายุ ๑๒ ขวบ จากนั้นเธอได้แสดงถึงความเป็นตัวของตัวเองซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของเธอตลอดมา โดยการเข้าเรียนในโรงเรียนเทคนิคชายล้วน และได้ศึกษาวิชาการคำนวณ และวิชาวิศวกรรม  ความสนใจของเธอได้เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ  ซึ่งต่อมาเธอได้สนใจเรียนชีววิทยาเป็นอย่างมาก

               หลังจากนั้นเธอก็มีจิตใจอันแน่วแน่ที่จะศึกษาต่อในวิทยาลัยแพทย์แห่งหนึ่ง เพื่อที่จะเป็นแพทย์ให้ได้ แต่ก็ถูกปฏิเสธเนื่องจากความที่เธอเป็นผู้หญิง เธอได้พยายามเอาชนะอคติที่มีต่อความเป็นผู้หญิงในศตวรรษที่ ๑๙ นี้เรื่อยมา จนกระทั่งประสบความสำเร็จและต่อมาได้กลายเป็นผู้หญิงคนแรกของประเทศ อิตาลีที่ได้รับปริญญาแพทยศาสตร์บัณฑิตและมีคนจำนวนมากที่เรียกเธอว่า Dottoressa หรือ แพทย์หญิงจากนั้นเป็นต้นมา

               หลังจากเรียนจบแล้ว เธอได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยหมอที่คลินิกจิตแพทย์ในมหาวิทยาลัยแห่งกรุงโรม ซึ่งเป็นที่ที่เธอได้ทำงานกับเด็กพิเศษจำนวนมาก (ในขณะนั้นเรียกกันว่าเด็กปัญญาอ่อน, เด็กพิการทางสมอง) และเริ่มเกิดความสนใจอย่างลึกซึ้งในกระบวนการเรียนรู้ของเด็กๆเหล่านั้น

               Dr. Maria Montessori เริ่มมั่นใจว่าเพียงการรักษาด้านร่างกายและการใช้ยานั้นยังไม่เพียงพอที่จะทำให้เด็กพิการทางสมองนี้มีสภาพที่ดีขึ้นหากต้องมีการเพิ่มกระบวนการเรียนการสอนและการฝึกหัดแบบพิเศษจึงจะช่วยพวกเขาได้

maria-montessori

 

               Dr. Maria Montessori เริ่มทดลองโดยคอยเฝ้าดูพวกเด็ก ๆ ที่อยู่ในห้องที่ว่างเปล่าโดยไม่มีสิ่งใดให้จับถือ และสังเกตเห็นว่าพวกเขารู้สึกหดหู่กับสิ่งนี้มาก แต่หลังจากอาหารกลางวัน พวกเขาได้ใช้มือคุ้ยเขี่ยเพื่อค้นหาเศษขนมปังตามพื้น ซึ่งทำให้ Dr. Maria เห็นถึงการเรียนรู้สิ่งแวดล้อมตามสัญชาติญาณโดยการใช้มือของพวกเขา โดยแนวคิดที่ว่า มือทั้งสองข้างเป็นหนทางแห่งการพัฒนาสติปัญญา นี่เองที่ ใช้เป็นแนวคิดหลักในกระบวนการเรียนรู้ของ Dr. Maria Montessori

               Dr. Maria Montessori ยิ่งเกิดความมั่นใจมากขึ้นว่าเธอสามารถช่วยเด็กพิการทางสมองเหล่านี้ได้ จึงเดินทางไปยังกรุงลอนดอนและปารีสเพื่อ ศึกษางานของ Jean Itard และ Edward Seguin ที่ได้ริเริ่มเรื่องเหล่านี้ไว้ ต่อมาแนวคิดและกระบวนการทำงานของทั้งสองก็ได้มีอิทธิพลอย่างมากต่อการทำงานของแนวคิดและการทำงานของเธอ

               Jean Itard (ค.ศ. ๑๗๗๕ – ๑๘๓๘) ซึ่งมีชีวิตอยู่ในช่วงการปฏิวัติของฝรั่งเศส ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับผู้ที่หูหนวกและเป็นใบ้ โดยใช้ความพยายามเป็นเวลาหลายปีในการให้การศึกษาและอบรมสั่งสอนเด็กชายพิการทางสมองผู้หนึ่งซึ่งถูกทิ้งอยู่บริเวณป่า Aveyron

               มีรายงานการศึกษาของเขาฉบับหนึ่งซึ่งถูกเขียนขึ้นโดยใช้ชื่อว่า The Wild Boy of Aveyron (ตีพิมพ์ครั้งต่อมาโดย Lucien Malson ใช้ชื่อว่า Wolf Children) ซึ่งเป็นหนังสือที่มีคุณค่าควรแก่การอ่านอย่างยิ่ง เนื่องจากมีรากฐานแนวคิดของ Montessori อยู่มาก

               Edward Seguin (Montessori: The Discovery of the Child) เป็นลูกศิษย์คนหนึ่งของ Jean Itard ซึ่งต่อมาได้ก่อตั้งโรงเรียนสำหรับเด็กปัญญาอ่อนขึ้นในปารีส

               Edward Seguin กล่าวว่ากระบวนการของเขาเป็นกระบวนการด้านจิตวิทยา โดยเริ่มกระบวนการเรียนรู้จากระบบกล้ามเนื้อและประสาทสัมผัส คือเริ่มจากการสอนวิธีการเดินให้กับเด็กที่มีปัญหาในการเรียนรู้ และจากนั้นก็ค่อยๆแนะนำแนวทางการเรียนรู้ให้เด็กโดยใช้ชุดกิจกรรมที่มีความต่อเนื่องกันและเพิ่มความยากของกิจกรรมขึ้นเรื่อย ๆ ตามลำดับ

               แรกเริ่มนั้น เขาสอนเด็ก ๆ ให้รู้จักการทรงตัวและความสมดุลในการเคลื่อนไหวร่างกาย เมื่อเด็กทำสำเร็จ ก็จะนำไปยังชุดทำกิจกรรมที่ยากขึ้นจนไปถึงกระบวนการคิดโดยใช้พื้นฐานด้านกล้ามเนื้อและประสาทสัมผัสซึ่งเป็นขั้นสุดท้าย

               กิจกรรมทั้งหมดนี้ล้วนเป็นการฝึกประสาทสัมผัสทั้งห้า คือ รูป รส กลิ่น เสียง และ สัมผัส และโดยการใช้ประสาทสัมผัสเหล่านี้เด็กจึงสามารถสร้างมโนภาพความเป็นจริงของโลกขึ้นมาได้

               ท้ายที่สุดแล้วแนวคิดการเรียนรู้โดยใช้ประสาทสัมผัสนี้ก็กลายมาเป็นพื้นฐานของ กระบวนการเรียนรู้ตามแนวทางของ Montessori

               ในปีค.ศ. ๑๘๙๙ Dr. Maria Montessori ได้นำเสนอแนวคิดของเธอต่อสภาที่ประชุมเรื่องการเรียนการสอนแห่งหนึ่งที่จัดขึ้นในเมือง Turin เธอได้เสนอว่า ปัญหาการพัฒนาของเด็กพิการทางสมองนั้นอยู่ที่การเรียนการสอนไม่ใช่การรักษาโดยใช้ยา ซึ่งส่งผลให้รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการมอบหมายให้เธอจัดหลักสูตรการอบรมให้แก่ครูผู้สอนเด็กพิเศษขึ้น

               ผลจากการอบรมครั้งนั้นทำให้มีการก่อตั้งโรงเรียน State Orthophrenic School สำหรับเด็กพิเศษขึ้นมา ในปี ๑๘๙๙ และ Dr. Maria ได้ทำการบริหารโรงเรียนนี้มาจนถึงปี ค.ศ. ๑๙๐๑ ซึ่งถือว่าเป็นช่วงเวลาที่เธอได้ทำงานอย่างเต็มที่  เธอได้ฝึกอบรมครู สอนเด็กพิเศษ ตลอดจนพัฒนาและทดสอบแนวทางการสอนและการใช้สื่อที่หลากหลาย ซึ่งแนวคิดในการใช้สื่อที่หลากหลายนี้เป็นอิทธิพลแรงจูงใจมาจากงานของ Jean Itard และ Edward Seguin (ใน History of the Method และ The Discovery of the Child)

               ด้วยกระบวนการเรียนการสอนของ Dr. Maria Montessori นั้น ทำให้เด็กพิเศษจำนวนหนึ่งสามารถประสบความสำเร็จในการอ่านได้ ซึ่งเธอได้เขียนไว้ในรายงานของเธอว่า “ฉันประสบความสำเร็จในการสอนเด็กปัญญาอ่อนจากบ้านเด็กพิการทางสมองให้อ่านออกเขียนได้เป็นอย่างดี จนสามารถสอบเข้าเรียนโรงเรียนของรัฐบาลได้เหมือนกับเด็กธรรมดาทั่วไป”(The Montessori Method, บทที่ ๒)

               ในช่วงที่ Dr. Maria Montessori ได้ทำการฝึกอบรมครูและทำงานอยู่ในบ้านเด็กพิการนั้น เธอได้แอบมีความสัมพันธ์แบบลับ ๆ กับชายผู้หนึ่งชื่อว่า Dr. Montesano และได้ตั้งครรภ์จนให้กำเนิดลูกชายที่มีชื่อว่า Mario Montessori และถูกส่งให้ไปอยู่กับครอบครัวอุปถัมภ์แถบนอกเมือง โดยที่ทุกคนเข้าใจว่าเขาเป็นหลานชายของเธอ แม้กระทั่งตัว Mario เองซึ่งก็มารู้ในภายหลัง

               การที่ Dr. Maria Montessori ได้ให้กำเนิด Mario แล้วทอดทิ้งนั้นอาจทำให้หลายคนที่กำลังศึกษาแนวคิดเกี่ยวกับเด็กของเธอเกิดความรู้สึกขัดแย้งขึ้นมาได้ ที่จริงแล้ว Dr. Maria ทำลงไปเพราะสังคมในยุคนั้นยังไม่ยอมรับผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ก่อนการแต่งงาน โดยเฉพาะคนที่มีชื่อเสียงในสังคมและวิชาชีพของตนเองอย่าง Dr. Maria

               Dr. Maria Montessori ก็รู้สึกปวดร้าวเป็นอย่างมากในการที่ต้องทอดทิ้ง Mario เพื่อรักษาสถานภาพทางสังคมและวิชาชีพของตนเองในครั้งนี้ แต่ต่อมามันกลับกลายเป็นแรงกระตุ้นให้เธอทำงานอย่างหนักและอุทิศชีวิตเพื่อการทำงานเพื่อเยาวชนมากขึ้น และยังได้ประสบความสำเร็จในงานของตนเองด้วย จะกล่าวไปแล้ว Dr. Maria อาจจะไม่สามารถเดินทางมาถึงความสำเร็จขั้นนี้ได้หากไม่มี Mario เป็นแรงผลักดันอยู่เบื้องหลัง

               ในปี ๑๙๐๑ Dr. Maria Montessori ได้ลาออกจาก Orthophrenic School และกลับเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยแห่งกรุงโรมอีกครั้ง โดยเลือกเรียนด้านปรัชญาและจิตวิทยา เธอยังได้นำงานของ Jean Itard และ Edward Seguin มาแปลเป็นภาษาอิตาลีด้วย ทั้งนี้เพื่อความเข้าใจอันลึกซึ้งในทฤษฎีของทั้งสอง

               ในปีค.ศ. ๑๙๐๔ Dr. Maria Montessori ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นศาสตราจารย์ด้านการสอนสาขามนุษยวิทยาในมหาวิทยาลัยแห่งกรุงโรม และได้มีผลงานออกมาอีกหลายชิ้น

               สองปีต่อมา Dr. Maria Montessori ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนเด็กเล็กแห่งหนึ่งในกรุงโรมตามโครงการเปลี่ยนชุมชนแออัดเป็นบ้านหลังใหม่ของรัฐบาล โรงเรียนนี้ใช้ชื่อว่า “Casa dei Bambini” หมายถึง “บ้านของเด็ก” ซึ่งมีลักษณะเป็นที่พักพิงขนาดใหญ่ของเด็ก ๆ ที่มีอายุตั้งแต่ ๓ ถึง ๗ ขวบ

               และอีกสองปีต่อมาก็ได้มีการจัดตั้ง“บ้านของเด็ก” นี้ขึ้นอีกสองแห่ง ซึ่งในโรงเรียนเหล่านี้นี่เองที่ Dr. Maria Montessori ได้มีโอกาสนำเอาทฤษฎีของตนเองเข้ามาประยุกต์ใช้กับเด็กปกติเป็นครั้งแรก เธอมีความเชื่อว่า เมื่อทฤษฎีนี้ใช้ได้ผลเป็นอย่างดีกับเด็กพิการทางสมองก็สามารถนำมาใช้พัฒนาศักยภาพของเด็กปกติได้เช่นกัน ดังที่เธอได้เขียนไว้ในหนังสือ The Montessori Method, บทที่ ๒ ว่า “ฉันรู้สึกว่ากระบวนการเรียนการสอนของฉัน ที่ใช้กับเด็กที่พิการทางสมองนั้น ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ซึ่งทำให้มั่นใจได้ว่า วิธีการเดียวกันนี้สามารถทำให้เด็กๆ ที่ปกติสามารถแสดงความเป็นตัวเองออกมาและรับการพัฒนาได้อย่างดีเยี่ยมเช่นกัน”

Montessori

               เด็กๆในโรงเรียน “บ้านของเด็ก” สองโรงแรกที่จัดตั้งขึ้นนั้นล้วนเป็นเด็กที่ถูกทอดทิ้ง กล่าวคือถูกละเลยไม่ได้รับการกระตุ้นการเรียนรู้และเอาใจใส่จากผู้ปกครองเท่าที่ควร และมีอีกหลายรายที่ผู้ปกครองไม่รู้หนังสือเลย และแล้วความหวังของ Dr. Maria Montessori ก็ปรากฏผลออกมา เด็ก ๆ เหล่านั้นเริ่มประสบความสำเร็จในการเรียนมากขึ้น และในโรงเรียนแห่งที่สามนั้น เด็ก ๆ ซึ่งค่อนข้างจะมีพื้นฐานที่ดีกว่าหน่อยเพราะจากมาจากชนชั้นกลาง ก็แสดงให้เห็นถึงผลของการใช้ทฤษฎีของ Dr. Maria Montessori ได้อย่างยอดเยี่ยมเช่นกัน ได้ปรากฏผลออกมาอย่างชัดเจนแล้วว่าเด็กทุกคนมีความสามารถในการเรียนรู้โดยสัญชาติญาณและโดยอิสระ ซึ่งทฤษฎีดังกล่าวนี้เองได้เป็นกุญแจหลักสำคัญของกระบวนการเรียนการสอนแบบมอนเตสซอรี่

               Dr. Maria Montessori มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง เมื่อสิ่งพิมพ์ทั่วโลกได้ตีพิมพ์ถึงความสำเร็จในการใช้ทฤษฎีกระบวนการเรียนรู้นี้ และเธอได้กลายเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลกในช่วงเวลาเพียงไม่กี่ปีถัดมา

               ในปีค.ศ. ๑๙๑๒ หนังสือเล่มแรกของเธอที่ชื่อว่า ll Metado della Podagogica Scientifica applicato all’educazione infantile  nelle Casa doi Bambini (1909) ก็ได้รับการตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษ และขายจนหมดภายในสี่วันหลังจากออกวางจำหน่าย และขึ้นเป็นหนังสือขายดีอันดับสองของอเมริกาในปี ค.ศ. ๑๙๑๒

               มีผู้คนจำนวนมากจากทุกมุมโลกเดินทางเข้ามาศึกษาดูงานวิธีการเรียนการสอนของ “บ้านของเด็ก” และเกิดแรงบันดาลใจในการนำหลักสูตร Montessori กลับไปใช้ยังประเทศของตนเองทั่วโลก ทำให้มีโรงเรียนที่ใช้หลักสูตรของ Montessori นี้แพร่กระจายไปยังประเทศต่าง ๆ เช่น อเมริกา รัสเซีย ญี่ปุ่น เยอรมัน และอินเดีย

               ขณะที่ Dr. Maria Montessori ได้ใช้เวลากับการทำงานใหม่ๆ คือการฝึกอบรมครู การเขียนหนังสือ และการบรรยายตามสถานที่ต่างๆ เขาเริ่มเดินทางไปตามที่ต่าง ๆ บ่อยครั้งขึ้น เพื่อไปเยี่ยมเยียนโรงเรียน Montessori ที่เปิดใหม่หลายแห่งทั่วโลก

               แนวคิดของเธอได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีในอเมริกา เธอได้รับเชิญให้ไปเยือนทำเนียบขาว และรับลูกสาวของประธานาธิบดีในขณะนั้น (Margaret Wilson) มาเป็นเลขานุการของโรงเรียน Montessori แห่งหนึ่งที่ได้รับการสนับสนุนจาก Alexandra Graham Bell ซึ่งเป็นผู้คิดค้นโทรศัพท์นั่นเอง

               อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้ที่ไม่เห็นด้วยและพยายามต่อต้านแนวคิดของ Dr. Maria Montessori นั่นคือศาสตราจารย์ด้านการศึกษาที่มีชื่อว่า William Kilpatrick เขาได้ตีพิมพ์หนังสือเล่มหนึ่งซึ่งมีอิทธิพลต่อครูผู้สอนและผู้บริหารโรงเรียนเป็นอย่างมาก ทำให้แนวคิด Montessori ในอเมริกาล่มสลายอย่างรวดเร็วพอ ๆ กับที่เคยแพร่กระจายอย่างรวดเร็วเช่นกัน William Kilpatrick ได้ออกมาโต้แย้งว่า แนวคิดและวิธีปฏิบัติของ Dr. Maria Montessori นั้นอยู่บนรากฐานของทฤษฎีที่ล้าสมัยแล้ว ซึ่งหลังจากนั้นเป็นต้นมา Dr. Maria Montessori ก็ไม่ได้กลับไปยังอเมริกาอีกเลยภายหลังปี ค.ศ. ๑๙๑๘

               การแพร่กระจายและล่มสลายอย่างรวดเร็วของหลักสูตร Montessori ในอเมริกานี้เป็นสิ่งแตกต่างจากประเทศอื่น ๆ โดยสิ้นเชิง เนื่องจากทฤษฎีนี้มีการเจริญเติบโตไปทั่วโลกอย่างต่อเนื่องในยุคเดียวกันนั้น

               ในช่วงต้นปี ค.ศ. ๑๙๒๐ Dr. Maria Montessori ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ตรวจการโรงเรียนของรัฐบาลในประเทศอิตาลี แต่ก็ไม่ได้ดำรงตำแหน่งนี้อยู่นานเนื่องจากเกิดความขัดแย้งในการทำงานกับรัฐบาล Fascist ต่อมาเธอได้ย้ายไปยังประเทศสเปนและก่อตั้งสถาบันฝึกอบรมครูพิเศษขึ้นอีกแห่งหนึ่ง แต่ด้วยความตึงเครียดด้านการเมืองของแถบยุโรปในช่วงปี ค.ศ. ๑๙๓๐ ทำให้เธอต้องย้ายไปยังประเทศฮอลแลนด์ และต่อไปยังประเทศอินเดียในปี ค.ศ. ๑๙๓๙ การขยายตัวของสงครามในช่วงนั้นส่งผลให้เธอต้องใช้ชีวิตอยู่ในอินเดียและทำงานของเธอเองที่นั่นเป็นเวลาหลายปี ทำให้ประเทศอินเดียกลายเป็นศูนย์กลางของหลักสูตร Montessori จนถึงทุกวันนี้

               ในปีค.ศ. ๑๙๔๖ เธอได้กลับไปยังประเทศอังกฤษอีกครั้งและปลุกความสนใจในหลักสูตรนี้ขึ้นมาอีก แล้วเธอก็เริ่มการเดินทางอีกครั้งเพื่อสอนและบรรยายตามประเทศต่างๆ เธอได้รับรางวัลมากมายทั้งจากภาครัฐและเอกชน และได้เสียชีวิตในประเทศฮอลแลนด์เมื่อปี ค.ศ. ๑๙๕๒ หลังจากนั้นแนวคิดของเธอก็ยังได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายมากขึ้นเรื่อย ๆ

               ในช่วงปี ค.ศ. ๑๙๖๐ เป็นช่วงที่มีการแพร่หลายมากที่สุดทำให้ทั่วโลกหันมาสนใจแนวคิดนี้อีกครั้ง และช่วงปี ค.ศ. ๑๙๗๐ มีโรงเรียน Montessori เกิดขึ้นกว่าหนึ่งพันแห่งในอเมริกา และในประเทศอังกฤษก็มีการแพร่หลายของแนวคิดอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องเช่นกัน